Tuesday, July 22, 2014

กระชายดำ


กระชายดำ   เป็นพืชสมุนไพรที่มีการกล่าวถึงสรรพคุณกันอย่างมากมาย ทั้งสรรพคุณทางไสย-เวทย์ สรรพคุณทางสมุนไพร และสรรพคุณทางยาแผนปัจจุบัน  การกล่าวถึงสรรพคุณที่มากมายจนกลายเป็นตำนานสืบทอดต่อกันมานั้น  สามารถบันทึกและรวบรวมไว้ดังนี้

        ในสมัยโบราณมีการบันทึกถึงการใช้ว่านกระชายดำในทางคงกระพันชาตรี ต่อต้านศาสตราวุธ และแคล้วคลาดจากคมหอกคมดาบได้เป็นอย่างดี  มีตำนานเล่าขานกันมาว่า  นักรบในสมัยโบราณมักพกกระชายดำติดตัวไปทุกครั้งเมื่อออกสนามรบและจะเคี้ยวอม ไว้ในปากเวลาต่อสู้กับข้าศึก  แต่ต้องคำนึงถึงที่มาของว่านด้วย  เพราะการที่ว่านจะมีอิทธิฤทธิ์นั้น จะต้องมีขั้นตอนของการทำพิธีกรรมทางไสยเวทย์ โดยการบรมคาถากำกับ จากครูบาหรือพระครูที่ผ่านการเรียนรู้มาอย่างถูกต้อง 

มีการกำหนดพิธีกรรมตั้งแต่การลงปลูกครั้งแรก และต้องมีฤกษ์ยามประกอบด้วย การดูแลรักษาจะต้องพิถีพิถันตามหลักการของพิธีกรรม และเวลาเก็บว่านต้องดูฤกษ์ยาม พร้อมกับทำพิธีกรรมบรมคาถากำกับด้วย  สำคัญผู้ที่จะรับว่านไปใช้จะต้องมีการตั้งครูก่อนที่จะรับของดี  และต้องมีวันเวลาบูชาครูตามฤกษ์ยามอีกด้วย  หลักการเช่นนี้มีบันทึกในตำราไสยเวทย์และคาถาอาคมฉบับโบราณ
        ในตำรายาโบราณบางฉบับมีการบันทึกถึงการนำกระชายดำไปใช้เป็นยาสมุนไพร ในหลายตำรับ  ดังเช่นคัมภีร์ยา  “นพเก้า” ที่กล่าวกันว่าเป็นสุดยอดของตำรายาสมุนไพร ซึ่งมีตัวยาทั้งหมด 9 ชนิดและกระชายดำก็เป็นหนึ่งในเก้าชนิดนั้นเช่นกัน  ตำรายาของขอมโบราณก็มีการบันทึกตำรับยากระชายดำผสมน้ำผึ้งเดือนห้าไว้ด้วย

         ส่วนตำราว่านมหามงคลนั้นก็มีบันทึกถึงกระชายดำเช่นกันว่า เป็นว่านมหามงคล มีเมตตามหานิยม  คงกระพันชาตรี  ถ้าปลูกไว้หน้าบ้าน หรือปลูกใส่กระถางนำไปตั้งไว้หน้าบ้านจะเป็นสิริมงคลมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในบ้าน ป้องกันภูตผีปีศาจ ซึ่งบรรดานักเลงว่านทั้งหลายนิยมสะสมกันมานาน และในสมัยก่อนถือว่าเป็นว่านที่หายากมีราคาแพง

         หมอพื้นบ้านมีการนำว่านกระชาย ดำมาใช้เป็นส่วนผสมของสูตรยาสมุนไพรมานานแล้ว  โดยเฉพาะยารักษาโรคต่าง ๆ และยาชูกำลังหรือยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ แต่จะเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะตัวบุคคลไม่เผยแพร่ให้รู้จัก เพราะเชื่อกันว่าตัวยานี้มีครูที่จะต้องเก็บรักษามีคาถาอาคมประกอบ และต้องมีสัจจะต่อครูบาอาจารย์คือไม่ให้เปิดเผยโดยทั่วไป ยกเว้นเสียแต่ว่ามีผู้สืบทอดอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนจะได้รับการถ่ายทอดวิชาและสอนตำรับยาอย่างเป็นทางการนั้นจะต้องผ่าน พิธีกรรม   การสาบานตนเป็นลูกศิษย์อย่างเป็นทางการ และต้องเสียค่าบูชาหรือที่เรียกว่าค่าครูด้วย  มิเช่นนั้นจะถือว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง  ด้วยวิธีการถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องสูตรยาสมุนไพรที่ยุ่งยากซับซ้อนนี้  จึงทำให้คนรุ่นหลังไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก ทำให้ตำรายาดี ๆ หลายตำรับหายสาบสูญไปกับเจ้าของสูตรนั้นมามากต่อมากแล้ว   กระชายดำก็เช่นกันแม้จะมีการใช้ทำยามานานแต่ถูกปิดบังโดยเงื่อนไขทาง พิธีกรรมที่สืบทอดกันมา จึงทำให้สมุนไพรชนิดนี้ในอดีตไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก  แต่ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ

  วิธีปลูกกระชายดำ


  • จะใช้ หัวพันธุ์, ต้นพันธุ์ หรือแบ่งเหง้าจากต้นที่เติบโตสมบูรณ์แล้ว นำมาปลูก สามารถปลูกในกระถางเพื่อเป็นไม้ประดับหรือปลูกรวมกับว่านชนิดอื่น ๆ ในลักษณะของรังว่านก็ได้ กระชายดำเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ดีในดินที่ระบายน้ำได้ดี มีอินทรีย์วัตถุสูง ควรเป็นดินร่วนปนทรายเช่น ดินขุยไผ่ ชอบที่ร่มแสงร่มรำไร การดูแลรักษาก็ง่าย แค่รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ ดายหญ้าและคอยกำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักตามสมควร หรือหากดินที่ปลูกอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วอาจไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลยก็ได้ ส่วนแมลงรบกวนนั้นเท่าที่ทราบมาก็มีแต่หอยทากเท่านั้นที่จะมากินใบของกระชาย ดำ ปัญหาที่พบมากคือเมื่อมีน้ำท่วมขังหรือฝนตกชุกมาก เหง้าของกระชายดำจะเน่า แต่การยกร่องก่อนปลูกจะช่วยได้มาก หากพื้นที่ที่จะปลูกเป็นที่ลาดชัน (slope)อาจไม่ต้องยกร่องก็ได้


ฤดูปลูก


  • ปลูกได้ทั้งปี แต่ฤดูปลูกที่เหมาะสมอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม


การเตรียมหัวกระชายดำสำหรับปลูก


  • หัวกระชายดำหัวหนึ่งจะมีหลายแง่ง ให้บิ(หัก)ออกมาเป็นแง่งๆ ถ้าแง่งเล็กก็ 2-3 แง่ง ถ้า แง่งใหญ่สมบูรณ์ก็แค่แง่งเดียวก็พอ เพราะเมื่อกระชายดำโตขึ้น กระชายดำก็จะแตกหน่อ และเกิดหัวกระชายดำหัวใหม่ขึ้นมาแทน และจะขยายหัวและหน่อออกไปเรื่อยๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ส่วนหัวหรือแง่งที่ใช้ปลูกในตอนแรกจะเหี่ยวและแห้งไปในที่สุด


ก่อนนำไปปลูก ควรทารอยแผลของแง่งกระชายดำที่ถูกหักออกมาด้วยปูนกินหมาก หรือจะจุ่มในน้ำยากันเชื้อราก็ได้ แล้วผึ่งในที่ร่มจนหมาดหรือแห้ง แล้วจึงนำไปปลูก(น้ำยากันเชื้อรามีจำหน่ายตามร้านเคมีภัณฑ์การเกษตรทั่วไป ขวดเล็กๆราคาไม่ถึงร้อยบาทก็มี)

การปลูกลงในกระถาง


  • ควรใช้กระถางที่มีขนาดกลาง -ใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 – 18 นิ้ว เพื่อให้มีพื้นที่ในการขยายหัวหรือเหง้า ใส่วัสดุปลูกให้มาก ๆ ประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของกระถาง (ปุ๋ยคอก 1 ส่วน/ดิน 2 ส่วน) จะทำให้ได้หัวที่มีคุณภาพและมีปริมาณหัวต่อต้นมาก การปลูกในกระถางควรใช้หัวหรือเหง้า ประมาณ 3 – 5 หัว(แง่ง) แล้วแต่ขนาดของกระถาง


การปลูกลงแปลง


  • ต้องเตรียมแปลงปลูก โดยการพรวนดินตากแดดทิ้งไว้นาน 5 – 7 วัน เพื่อปรับสภาพดิน ยกร่องกว้างประมาณ 1.50 เมตร ขุดหลุมลึกประมาณ 10 – 15 ซม.ใส่ปุ๋ยคอกให้พอเหมาะ แล้วทำการปลูก ระยะห่างระหว่างหลุมและแถวประมาณ 30 X 30 ซม. ใส่หัวหรือเหง้า 2 -3 หัว(แง่ง) ต่อหลุม แล้วกลบหลุมรดน้ำให้ชุ่ม


การปลูกในไร่ (กรณีปลูกปริมาณมากๆ)

การเตรียมดิน


  • ควรไถ 2 ครั้ง ครั้งแรกไถพรวนเพื่อย่อยดิน ทำการยกร่องปลูก ระหว่างต้นประมาณ 25 – 30 ซม. ก่อนปลูกควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินในอัตรา 200 – 400 กก./ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน วิธีการปลูกก็โดยฝังเง้าหรือหัวพันธุ์ลงในหลุมปลูกลึก ประมาณ 5 – 10 ซม.ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เหง้าพันธุ์ประมาณ 160 – 200 กก.


การดูแลรักษา


  • เมื่อต้นกระชายดำอายุได้ 1 เดือน ควรดายหญ้ากำจัดวัชพืชพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 1,000 กก./ไร่ ไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพราะจะทำให้หน่อกระชายดำที่เกิดใหม่ยาว และสีของหัวกระชายดำไม่ดำ ทำให้คุณภาพเปลี่ยนไป และเมื่อต้นกระชายดำอายุได้ 2 เดือน ให้พรวนดินกลบโคนต้นควรมีการปลูกซ่อมในหลุมที่ไม่งอก


การเก็บเกี่ยว


  • เมื่อกระชายดำอายุได้ 10 -12 เดือน สังเกตจากใบและลำต้นจะเริ่มเหี่ยวแห้งและหลุดออกจากต้น ระยะนี้ คือ ระยะพักตัวของกระชายดำเพราะจะทำให้กระชายดำมีโอกาส ได้สะสมอาหารและตัวยาได้เข้มข้นอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะขยายพันธุ์ต่อไป จึงเป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้ดี ทำให้ได้กระชายดำที่มีคุณภาพดี กระชายดำที่ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอนาแห้ว – อำเภอภูเรือ จะได้รับผลผลิตประมาณ 650 – 900 กก./ไร่


การเก็บรักษาพันธุ์


  • กระชายดำที่แก่จัดจะมีอายุประมาณ 11 – 12 เดือน หัวจะต้องสมบูรณ์ อวบใหญ่ปราศจากเชื้อโรค เก็บไว้ในที่แห้งและเย็นนาน ประมาณ 1 – 3 เดือน จึงจะนำไปปลูกต่อได้


 

 

ที่มา : samunpri.com

22 Jul 2014

0 comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.

:) :)) ;(( :-) =)) ;( ;-( :d :-d @-) :p :o :>) (o) [-( :-? (p) :-s (m) 8-) :-t :-b b-( :-# =p~ $-) (b) (f) x-) (k) (h) (c) cheer
Click to see the code!
To insert emoticon you must added at least one space before the code.